พบปะสนทนา ณ วังวรดิศ พี่น้องเพื่อนข้าราชการ 3 ก.พ. 64
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา ประธานพิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า “ความดีมีความพร้อมทางสติปัญญา (Intelligence) ของพี่น้องเพื่อนข้าราชการและวิทยากรตัวคูณจะต้องยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักในการทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน ก่อนที่จะไปไกล่เกลี่ย แก้ไขปัญหา ให้ความรู้หรือให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เผยแพร่งานในภาระหน้าที่รับผิดชอบของส่วนราชการ พูดจาสมาคมกับใครเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมนั้น อันจะช่วยทำให้ระบบงานและสังคมมีความสงบสุข เกิดผลสัมฤทธิ์ และเจริญก้าวหน้าได้ คุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญมี 10 ประการสำคัญ
- การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรม ข้อนี้เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างยิ่งเพราะสังคมจะดำรงอยู่ได้ และสามารถพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ ถ้าผู้คนในสังคมยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัวหรือประโยชน์ได้เสียของพวกพ้องหรือวงศาคณาญาติ
- การรับฟังความคิดเห็นระหว่างกัน ไม่ใช่เอาความคิดตนเป็นที่ตั้งแต่เพียงผู้เดียว (One Man Decision) และเคารพในมติของเสียงส่วนมาก คุณธรรมข้อนี้มีความสำคัญมากต่อการดำรงสังคมคุณภาพ และสังคมประชาธิปไตยที่มีระเบียบ เพราะสมาชิกในสังคมมักจะมีความคิดเห็นในปัญหาต่าง ๆ ของสังคม และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงส่วนใหญ่อันกอปรด้วยเหตุและผล เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ๆ แต่ทั้งนี้เสียงส่วนมากก็จะต้องเคารพความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยโดยไม่ถือว่าเสียงส่วนน้อยเป็นฝ่ายผิด จึงจะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข คนดีกับอีกทุก ๆ คน ต่างมีที่ยืน หาใช่ลบหลู่ดูหมิ่นหรือเป็นศัตรูต่อกัน
- ความมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อหน้าที่ ถ้าสมาชิกในสังคมยึดมั่นในระเบียบวินัย ควบคุมตนเองได้ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สังคมนั้นก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขและเจริญก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น นักเรียนมีหน้าที่เรียนก็ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด จะทำให้นักเรียนมีความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน เป็นทั้งคนดีมีความสามารถ มีสัมมาชีพสุจริต และประสบความสำเร็จในชีวิต หรือข้าราชการทำหน้าที่บำบัดทุกข์-บำรุงสุข การพิทักษ์สันติราษฎร์ และดูแลความอยู่รอดปลอดภัยของสังคมอย่างดีที่สุด ไม่ใช่นิยมชมชอบแต่คนประจบประแจงเอาใจ ก็ย่อมจะทำให้ข้าราชการผู้นั้นมีความสำเร็จในหน้าที่การรับราชการต่อไปภายภาคหน้า
- ความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าสมาชิกในสังคมยึดมั่นในความสัตย์ซื่อสุจริต เช่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่เบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือถ้าเป็นข้าราชการก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มี “Code of Honour” มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่น สังคมนั้นก็จะมีแต่ความสันติสุขและเจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นแบบอย่างแก่องค์กรทั้งหลาย อย่างเต็มภาคภูมิ
- สังคมทุกสังคมต้องการให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่กล่าวเท็จ ไม่หยาบคาย เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ดังนั้น ถ้าสมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อการดำรงอยู่ของสังคมคุณภาพ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง
- ความสามัคคี หมายถึง ความรักใคร่กลมเกลียว ความร่วมมือกันทำงาน มีความรู้รักสามัคคี มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าหากัน มีความเป็นสุภาพชน มิใช่แข็งกระด้าง เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ดังคำกล่าวที่ว่า “สามัคคี คือ พลัง” ดังนั้น ถ้าประชาชนชาวไทยมีความรู้-รัก-สามัคคี ไม่แตกแยก ไม่แบ่งแยก ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ประเทศชาติย่อมจะมีความเข้มแข็ง เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นที่เกรงอกเกรงใจของอารยประเทศ รวมทั้งจะทำให้สถาบันทางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงและยั่งยืน
- ความละอายและเกรงกลัวในการกระทำชั่ว เกรงกลัวต่อบาป สิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เช่น ถ้าบุคคลมีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ มีความละอายแก่ใจและเกรงกลัวในการทำความชั่วและสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ย่อมจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวบุคคลและองค์กร อันจะยังผลให้ระบบงานภาครัฐในทุกมิติดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย ไม่ใช่เป็นแบบหัวมังกุท้ายมังกร ซึ่งหมายความว่า ไม่เข้ากัน ขัดกันในตัว ทรวดทรงเรือนร่าง ต่างลักษณะ ไม่กลมกลืนกันตามที่ควรเป็น
- การส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ เมื่อนั้นระบอบการปกครองของประเทศจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ระบบราชการเป็นที่พึ่งพาและไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน เมื่อได้คนดีมีความรู้ความสามารถทั้งเปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรม มารับราชการและช่วยกันบริหารบ้านเมือง
- มีความมุ่งมั่นตั้งใจการยึดหลักเกณฑ์ เรียกว่า “5 Modules” ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ระบบราชการยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล เป็นแบบอย่างอันถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและสังคมโดยรวม ไม่ใช่หมดความเลื่อมใสศรัทธา เพราะข้าราชการประจำต้องเป็นหลักให้กับประเทศชาติ ต้องไม่ทำให้ระบบล่มสลาย
- การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เพื่อความรู้เท่าทัน การไม่เป็นผู้ตกข่าวสาร มีการอัพเดตความรู้ความเข้าใจโดยตลอดเวลา ประการสำคัญ คือ การเสริมสร้างความรู้-รัก-สามัคคี และเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามพระบรมราชปณิธาน
หลักคิดทางคุณธรรมจริยธรรมดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นคุณธรรมและจริยธรรมที่สมาชิกของสังคมสามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องอาศัยทักษะใดๆ กล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติของความดีที่ทุกผู้ทุกฝ่ายพึงกระทำ ซึ่งความดีเริ่มได้จากใจเรา และเราคนไทยทุกคนทำความดีด้วยหัวใจ
เมื่อพี่น้องเพื่อนข้าราชการและวิทยากรตัวคูณสามารถปฏิบัติได้ครบถ้วนทั้ง 10 ประการ ย่อมจะช่วยให้ระบบราชการอันถือกำเนิดขึ้นตามอุดมคติทางการบริหาร ทำให้สังคมมีความสงบสุข และสามารถก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างสง่างาม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการเลือกปฏิบัติ เป็นส่วนราชการและโครงการวิทยากรตัวคูณคุณธรรม เป็น “Role Model” ให้กับองค์กรอื่น ๆ ของประเทศไทย กับอีกทั้งสมาชิกประเทศในภูมิภาค
ส่วนหนึ่งจากการพบปะสนทนากับพี่น้องเพื่อนข้าราชการผู้เข้าร่วมโครงการ “ดำรงราชานุภาพศึกษา” ณ พิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย // 3 ก.พ. 64 //





