ในสมัยโบราณ การใช้ช้างในการทำสงคราม ถือเป็นกำลังสำคัญในการสู้ศึกเพื่อเอกราชของไทย พระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพจะใช้อาวุธของ้าวต่อสู้กันบนหลังช้าง ส่วนช้างที่ใช้ต่อสู้นั้นก็จะต่อสู้กับช้างของศัตรูช้างผู้ใดที่มีกำลังมากและสามารถสู้งัดช้างของศัตรู ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะจะทำให้แม่ทัพนั้นสามารถใช้ของ้าวฟันคู่ต่อสู้ได้อย่างสะดวกและได้ชัยชนะ ซึ่งการรับชัยชนะนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของช้างและแม่ทัพด้วย
ช้างศึกในสมัยโบราณนั้นมีมากมายหลายรัชสมัยโดยเริ่มจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยนี้พระองค์ได้รับช้างเผือกมาตัวหนึ่งซึ่งถือเป็นช้างเผือกแรกของกรุงศรีอยุธยา จนพระองค์ได้รับพระราชสมัญญาอีกพระนามหนึ่งว่า “พระเจ้าช้างเผือก” และในสมัยพระมหาจักรพรรดิทรงใช้ช้างต่อสู้กับกองทัพของพม่าและได้เกิดตำนานพระศรีสุริโยทัยขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการรบบนหลังช้างที่สำคัญกับคนไทยมากที่สุดซึ่งถือเป็นการกู้เอกราชให้กับประเทศไทยเลยก็ว่าได้นั่นคือในสมัยสมเด็จ พระนเรศวรมหาราชซึ่งเป็นการรบระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีโดยช้างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการทำศึกครั้งนี้คือเจ้าพระยาไชยานุภาพและเมื่อได้รับชัยชนะก็ได้สมญานามว่า เจ้าพระยาปราบหงสา ส่วนช้างที่พระสมเด็จพระเอกาทศรถผู้น้องทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร และต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อครั้งที่ประชาชนเกิดความแตกแยกข้าศึกเข้าโจมตี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นกำลังรวบรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่นโดยทรงใช้ช้างในการรบด้วยเช่นกัน..
“ช้าง” เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์และผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณ ช้างเป็นพระราชพาหนะเคียงคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยเลยทีเดียว แต่สมัยปัจจุบัน คนไทยกลับเห็นคุณค่าและความสำคัญของช้างไทยลดลงไปทุกขณะ จนช้างถูกนำไปเร่ร่อนหาผลประโยชน์โดยควาญช้าง และล้มตายเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที
เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการดำรงอยู่ของช้างไทย รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทุกคนหันมาช่วยกันอนุรักษ์ช้าง ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้ทุก ๆ วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันช้างไทย”
วันช้างไทยริเริ่มขึ้นจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น
คณะอนุกรรมการจึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันช้างไทย“ และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์..
กิจกรรม “วันช้างไทย” ประจำปี 2562 นี้ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูช้างไทย เหมือนเช่นทุกปี โดยใช้ชื่องานว่า “13 มีนาคม วันช้างไทย สืบสานวิถีล้านนา เชิดชูคุณค่าช้างไทย“ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 12 -13 มี.ค. 2562 สำหรับกิจกรรมวันแรก 12 มี.ค. 2562 จะมีพิธีทำบุญให้ช้าง และการประกวดซุ้มอาหารช้าง ส่วนวันที่ 13 มี.ค. 2562 จะมี พิธีตักบาตรกับช้าง, พิธีฮ้องขวัญ, ผูกขวัญช้าง และงานเลี้ยงอาหารช้างฯ คนรักช้างทุกท่าน อย่าลืมไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวพร้อมกัน..
cr : ภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค / ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ ลำปาง
*กำหนดการงาน “สืบสานวิถีล้านนา เชิดชูคุณค่าช้างไทย”
วันที่ ๑๒ – ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
*วันอังคารที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒
เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. บวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ( ๒ ชั่วโมง)
เวลา ๑๐.๓๐ – ๑๑.๓๐ น. พิธีสงฆ์และสวดบังสุกุลช้าง (๑ ชั่วโมง)
เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. การประกวดจัดซุ้มอาหารช้างของหน่วยงานภายนอก (๖ ชั่วโมง)
เวลา ๑๕.๓๐ น. ประกาศผลการตัดสินการประกวดจัดซุ้มอาหารช้าง ณ เวทีกลาง
(บริเวณด้านข้างไปรษณีย์ช้างไทย) (๓๐ นาที)
*วันพุธที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒
เวลา ๐๘.๐๐ น. – ๐๙.๐๐ น. พิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งร่วมกับช้าง พระสงฆ์ ๒๙ รูป
เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๐๙.๐๕ น. ประธานในพิธีเดินทางมาถึงบริเวณงาน
พิธีกรกล่าวต้อนรับ นำเข้าสู่พิธีการ
เวลา ๐๙.๐๕ น. – ๐๙.๑๐ น. ผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ ในพระอุปถัมภ์ฯ
(ว่าที่พันตรีอภิชาติ จินดามงคล) กล่าวรายงานการจัดงาน
เวลา ๐๙.๑๐ น. – ๐๙.๑๕ น. พิธีกรเรียนเชิญ ประธานในพิธีฯ กล่าวเปิดงาน และลั่นฆ้องชัยเปิดงาน
เวลา ๐๙.๑๕ น. – ๐๙.๓๐ น. พิธีกรเรียนเชิญประธานในพิธีฯ และแขกผู้มีเกียรติ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
เวลา ๐๙.๓๐ น. – ๐๙.๔๐ น. พิธีกรเรียนเชิญประธาน มอบรางวัลการประกวดซุ้มอาหารช้าง
เวลา ๐๙.๔๐ น. – ๑๐.๑๐ น. พิธีฮ้องขวัญช้าง โดยหมอช้างประกอบพิธี
เวลา ๑๐.๑๐ น. – ๑๐.๑๕ น. พิธีกรเรียนเชิญประธาน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมกันนำกระเช้าอาหารช้าง
วางบนสะโตกอาหารช้าง เพื่อเลี้ยงอาหารช้าง
เวลา ๑๐.๑๕ น. พิธีกรเชิญผู้ร่วมงานร่วมผูกขวัญช้าง
เวลา ๑๐.๑๕ น. ชมช้างกินอาหารบนสะโตกอาหารช้าง
เวลา ๑๒.๐๐ น. ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน
เสร็จสิ้นพิธี
***************************
หมายเหตุ
- การแต่งกาย : ชุดพื้นเมือง
- สถานที่จัดงาน/กิจกรรม
- วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ พิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๓ จุด และประกวดจัดซุ้มอาหารช้าง
- บวงสรวงสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณโบราณสถานสันดอยเรือ
- บวงสรวงสักการะพระพิฆเนศ บริเวณโรงเรียนฝึกควาญช้างและช้าง
- บวงสรวงสักการะเจ้าพ่อขุนตาน ศาลด้านหน้าทางเข้าสถาบันคชบาลแห่งชาติ
- ประกวดจัดซุ้มอาหารช้างของหน่วยงานภายนอก ณ บริเวณลานเอนกประสงค์หน้าทางเข้าลานแสดงช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ
- วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ ลานแสดงช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง





